ประชาสัมพันธ์ส่งเสริมความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในหมู่บ้าน/ชุมชนการใช้น้ำอย่างประหยัดและการจัดการน้ำเสียในชุมชน

การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ
          น้ำเป็นทรัพยากรสำคัญของโลก เพราะโลกมีปริมาณน้ำมากถึงร้อยละ 98 ในจำนวนนั้นมีเพียงร้อยละ 2.59 เท่านั้นที่เป็นน้ำจืดซึ่งมนุษย์ใช้ประโยชน์ได้โดยตรง เป็นจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณน้ำเค็มในทะเล การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้ได้น้ำที่มีคุณภาพดีเหมาะแก่การนำไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าจะด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม จนถึงบริโภคอุปโภคในครัวเรือน แนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำแบ่งตามกิจกรรมมีดังนี้
          1. การใช้น้ำอย่างประหยัด นอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าน้ำลงได้แล้ว ยังทำให้ปริมาณน้ำเสียที่จะทิ้งลงแหล่งน้ำลดลง และป้องกันการขาดแคลนน้ำได้ด้วย
          2. การสงวนน้ำไว้ใช้ ในบางฤดูหรือในสภาวะที่มีน้ำมากเหลือใช้ ควรมีการเก็บน้ำไว้ใช้ เช่น การทำบ่อเก็บน้ำ การสร้างโอ่งน้ำ การขุดลอกแหล่งน้ำ รวมทั้งการสร้างอ่างเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตร และพลังงานแล้วยังช่วยป้องกันการเกิดอุทกภัย ป้องกันการไหลชะล้างหน้าดินที่อุดมสมบูรณ์และใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ
          3. การพัฒนาแหล่งน้ำ ในบางพื้นที่ขาดแคลนน้ำ จำเป็นที่จะต้องหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม เพื่อให้มีน้ำไว้ใช้ทั้งในครัวเรือนและในการเกษตรได้อย่างเพียงพอ ปัจจุบันการนำน้ำบาดาลขึ้นมาใช้กำลังแพร่หลายมาก แต่อาจมีปัญหาเรื่องแผ่นดินทรุด เช่นในบริเวณกรุงเทพ ฯ ทำให้เกิดดินทรุดได้ จึงควรมีมาตรการกำหนดว่าเขตใดควรใช้น้ำใต้ดินได้มากน้อยเพียงใด
          4. การป้องกันน้ำเสีย การไม่ทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล และสารพิษลงในแหล่งน้ำ น้ำเสียที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม โรงพยาบาล ควรมีการบำบัดและขจัดสารพิษก่อนที่จะปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ การวางท่อระบายน้ำจากบ้านเรือน การวางฝังการก่อสร้างโดยไม่ให้น้ำสกปรกไหลลงสู่แม่น้ำลำคลอง
          5. การนำน้ำเสียกลับไปใช้ น้ำที่ไม่สามารถใช้ได้ในกิจการหนึ่ง เช่น น้ำทิ้งจากการล้างภาชนะอาหาร สามารถนำไปรดต้นไม้ โรงงานบางแห่งอาจนำน้ำทิ้งมาทำให้สะอาดแล้วนำกลับมาใช้ใหม่


การจัดการน้ำเสียในชุมชน
          น้ำเสียจากชุมชน หมายถึง น้ำเสียที่ปล่อยจากอาคารบ้านเรือน และกิจกรรมในชุมชน เช่น โรงแรม ตลาด และสถานบริการต่างๆ โดยเกิดจากการใช้น้ำของผู้ที่พักอาศัยหรือใช้บริการ เช่น การอาบน้ำชำระล้างร่างกาย การขับถ่าย การประกอบอาหาร การล้างภาชนะ การซักล้าง ซึ่งเป็นน้ำเสียที่ประกอบไปด้วยสารอินทรีย์ สบู่ ผงซักฟอก เศษอาหาร ไขมันและน้ำมัน จำเป็นต้องได้รับการบำบัดก่อนปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม 
          ในกรณีที่ชุมชนไม่มีท่อระบายน้ำโสโครกจะไหลลงสู่แหล่งรองรับต่างๆ เช่น ที่ลุ่ม ทุ่งนา แม่น้ำ ก่อให้เกิดการปนเปื้อนแหล่งน้ำผิวดิน การทิ้งขยะมูลฝอยลงในแม่น้ำจะขัดขวางการไหลของน้ำทำให้คุณภาพน้ำเสื่อมลงหรือซึมลงไปปนเปื้อนน้ำใต้ดิน และน้ำเสียที่ขังอยู่ที่ลุ่มจะเป็นแหล่งเพาะพันธ์ยุง
          เทศบาลเมืองแสนสุข จัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสียรวม แบบแอกทิเวเต็ดสลัดจ์ (Activated Sludge Process) จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ โรงปรับปรุงคุณภาพน้ำแสนสุขเหนือ และโรงปรับปรุงคุณภาพน้ำแสนสุขใต้ เพื่อบำบัดน้ำเสียชุมชนที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และเพื่อป้องกันปัญหามลพิษทางน้ำที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต จึงควรส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการน้ำเสียจากบ้านเรือน เพื่อให้บ้านเรือนมีการจัดการที่ดีและเหมาะสมไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชน และเป็นส่วนร่วมในการช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมร่วมกัน

เอกสารแนบ

แผ่นพับการใช้น้ำอย่างประหยัด

คลิกเพื่อดาวน์โหลดเอกสาร

Infographic - การจัดการน้ำเสียครัวเรือน

คลิกเพื่อดาวน์โหลดเอกสาร