เทศบาลเมืองแสนสุขได้รับการยกฐานะจาก สุขาภิบาลแสนสุข ขึ้นเป็นเทศบาลตำบลแสนสุข เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2531 พร้อมกันนี้ได้ขยาย พื้นที่ความรับผิดชอบจาก 12.5 ตารางกิโลเมตร เป็น 20.268 ตารางกิโลเมตร ด้วยศักยภาพของท้องถิ่น และ ผู้บริหารท้องถิ่น ในการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ สร้างความเจริญก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว และในปีพ.ศ. 2536 เทศบาลฯ จึงได้รับงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยราชการต่างๆเป็นจำนวนมาก เช่นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, กระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี, องค์การบริหารส่วนจังหวัด, กรมการปกครอง ฯลฯ ซึ่งเทศบาลฯ ได้นำงบสนับสนุนเหล่านั้นมาใช้ในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จวบจนปัจจุบัน เทศบาลฯได้รับการยกระดับขึ้นเป็นเทศบาลเมืองแสนสุข เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2544 และยึดหลัก การบริหารที่เด่นชัด คือ "เทศบาลเมืองแสนสุข เป็นเมืองน่าอยู่พัฒนาการเรียนรู้คู่คุณธรรม แหล่งท่องเที่ยวสวยงามและยั่งยืน รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจรุ่งเรือง ประชาชนอยู่ดีมีสุข ชุมชนเข้มแข็ง ดำรงประชาธิปไตย ภายใต้ระบบการบริการที่ทันสมัยโดยยึดหลักธรรมาภิบาล"
ก่อนปี พ.ศ.2486 ชุมชนต่างๆ ในเทศบาลเมืองแสนสุข ยังไม่เป็นที่รู้จักของคนภายนอก ยกเว้นชุมชนเขาสามมุข ซึ่งเป็นชุมชนเล็กๆ ในรัชสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีบ้านเรือนเพียง 3-4 หลัง เป็นชุมชนที่ประกอบอาชีพทางการประมง เขาสามมุขในสมัยนั้น มีลักษณะคล้ายเกาะริมฝั่งทะเล ตอนกลางเขา เป็นป่าดงดิบ เชิงเขาเป็นป่าแสม ป่าโกงกาง ชายฝั่งทะเลมีลิง และงูชุกชุมมาก ตรงหัวเขาด้านตะวันตก มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านใกล้เคียงนับถือคือ "เจ้าแม่สามมุข" ชุมชนเขาสามมุขหนาแน่น และเจริญขึ้นเมื่อ จอมพล ป.พิบูลสงคราม มาสร้างบ้านพักตากอากาศขึ้นทางด้านตะวันตกของเขา ประมาณปี พ.ศ.2486-2488 นอกจากนั้นยังสร้างบ้านรับรองของรัฐบาล เพื่อใช้รับรองบุคคลสำคัญ และอาคันตุกะจากต่างประเทศ ตลอดจนที่ประชุมคณะรัฐมนตรี รวมทั้งสร้างบ้านพักสำหรับข้าราชการอีก 13 หลัง และตัดถนนเชื่อม จากบางแสนไปเขาสามมุขโดยรอบ และได้เวนคืนที่ดินส่วนหนึ่งจากชาวบ้าน รวมพื้นที่จับจอง และเวนคืนทั้งสิ้น 113 ไร่ หลังสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม (พ.ศ. 2501) เขาสามมุขไม่คึกคักดังแต่ก่อน ปีพ.ศ.2503 จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ ได้สร้างบ้านรับรองของรัฐบาลขึ้นใหม่ที่แหลมแท่น (ด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเขาสามมุข) บุคคลสำคัญของรัฐบาล ก็ย้ายไปประชุม และพักแรมกันที่บ้านรับรองแหลมแท่น บ้านรับรองของรัฐบาลที่เขาสามมุขก็ถูกละเลย และทรุดโทรมลงตามลำดับในปีพ.ศ.2536 เทศบาลฯได้จัดทำโครงการนำร่องในการพัฒนาเขาสามมุข ให้เป็นจุดท่องเที่ยวที่สำคัญ และได้พัฒนาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และจะยังคงดำเนินต่อไปในอนาคต โดยเริ่มต้นพัฒนาพื้นที่ด้านตะวันออกของเขาสามมุขช่วงต่อจากศาลเจ้าแม่สามมุขจีนไปทางใต้ แล้วพัฒนาเชื่อมต่อรอบเขาสามมุขไปยังแหลมแท่น รวมถึงชายทะเลบางแสนตลอดแนว และถนนทางไปอ่างศิลา พร้อมทั้งทำการปรับปรุงพื้นที่ริมทะเลแหลมแท่น ปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ทั้งบริเวณแหลมแท่น และเขาสามมุข รวมถึงชายหาดบางแสนเพื่อให้ มีทั้งสถานที่พักผ่อน, ชมทัศนียภาพ, เพื่อนันทนาการ รวมทั้งมีการจัดตั้งศูนย์ศึกษาธรรมชาติ, สวนสุขภาพ และสถานที่จำหน่ายของที่ระลึก และอาหาร ด้วย
แผนที่ชุมชนสามารถดูรายละเอียดได้ตามเส้นทางเชื่อมโยงนี้
วิสัยทัศน์การพัฒนาชุมชน "รู้รักสามัคคี ดำรงชีวิตตามวิถีพอเพียง หลีกเลี่ยงยาเสพติด"
เกิดจากประชาชนได้มีการร้องขอให้มีการจัดตั้งชุมชนขึ้นเพื่อที่จะได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน และแก้ไขปัญหาต่างๆ ในชุมชน เพื่อเป็นการส่งเสริมความร่วมมือของประชาชนกับทางเทศบาลเมืองแสนสุข โดยมีหมู่บ้านไม้งาม และหมู่บ้านมณีแก้ว ก่อตั้งในชื่อชุมชนมณีแก้ว
ในปี พ.ศ.2555 ชุมชนมณีแก้ว ได้แบ่งพื้นที่ ออกเป็น 2 ชุมชน คือ ชุมชนมณีแก้ว 1 และชุมชนมณีแก้ว 2 เนื่องจากมีประชากรอาศัยเพิ่มมากขึ้น ทำให้การดูแลไม่ทั่วถึง ต่อมา ปี พ.ศ.2557 ได้มีการรวมพื้นที่ชุมชนมณีแก้ว, ชุมชนดอนมณี โดยใช้ชื่อชุมชนว่า “มณีแก้ว” ตามนโยบายของคณะผู้บริหารเทศบาลเมืองแสนสุข ที่มุ่งหวังให้การบริหารจัดการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ประชาชนได้รับประโยชน์จากการบริการสาธารณะอย่างรวดเร็ว รวมทั้งสามารถสนับสนุนงบประมาณเพื่อการบริหารจัดการชุมชนได้อย่างเพียงพอ ในการแก้ไขปัญหาของชุมชน
วิสัยทัศน์การพัฒนาชุมชน "ดอนบนคนขยัน สืบสานขนมไทย ร่วมใจสามัคคี ทำความดีเพื่อสังคม"
คำว่า “ดอน” คือพื้นที่ที่สูงกว่าพื้นที่รอบๆ น้ำไม่ท่วม คำว่า “บน” เป็นความเข้าใจของชาวบ้านว่าอยู่ฝั่งบนของตลาด ซึ่งชาวบ้านสมัยก่อนถือตลาดเป็นจุดศูนย์กลาง แต่เดิมถนนเปรมใจราษฎร์ จะเป็นแค่ทางเกวียน คือมีความกว้างแค่ที่เกวียนจะผ่านไปได้ ถนนแสนสุขก็เป็นถนนดินแดง มีสะพานไม้ข้ามคลองบริเวณเยื้องหมู่บ้านสโรชา คนพื้นที่ดั้งเดิมอยู่กันอย่างพอเพียง คือ ปลูกผัก ทำขนม แล้วนำไปขายที่ตลาดหนองมน หลายบ้านมีควายไว้ใช้ในการทำนา เพาะปลูก แต่เมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น มีเทคโนโลยีเข้ามา ควายก็มีความสำคัญน้อยลง ใช้รถมากขึ้น พื้นที่เพาะปลูกน้อยลงขยับขยายหรือขายที่ดินทำเป็นหมู่บ้านจัดสรร ถนนก็พัฒนาขึ้น ถนนแสนสุขพัฒนาเป็นถนนหลวงลาดยาง เป็นถนนทางหลวงหมายเลข 3134 ถนนเปรมใจราษฎร์ที่แต่เดิมเป็นทางเกวียนก็พัฒนาเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก จากหน้าหมู่บ้าน บางแสนทาวเวอร์ยาวจนถึงถนนสุขุมวิทที่ชุมชนบ้านเหมือง โดยได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากเทศบาลเมืองแสนสุข หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการเสียสละที่ดินริมทางของประชาชน
ในปี พ.ศ.2555 ได้แบ่งพื้นที่ชุมชนดอนบน ออกเป็น 5 ชุมชน คือ ชุมชนดอนบน, ชุมชน บางแสนทาวเวอร์, ชุมชนหน้าตลาด, ชุมชนทรายแก้วหนองมน และชุมชนดอนมณี เนื่องจากมีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นและมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และพื้นที่เดิมมีขนาดใหญ่ ทำให้การดูแลไม่ทั่วถึง ต่อมาในปี พ.ศ.2557 ได้มีการรวมพื้นที่ ดอนบน รวมกับ ชุมชนหน้าตลาด และชุมชนทรายแก้วหนองมน ตามนโยบายของคณะผู้บริหารเทศบาลเมืองแสนสุข ได้ประกาศเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองแสนสุข เพื่อมุ่งหวังให้การบริหารจัดการชุมชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ประชาชนได้รับประโยชน์จากการบริการสาธารณะอย่างรวดเร็ว รวมทั้งสามารถสนับสนุนงบประมาณเพื่อการบริหารจัดการชุมชนได้อย่างเพียงพอในการแก้ไขปัญหาของชุมชน โดยใช้ชื่อว่า “ชุมชนดอนบน”
วิสัยทัศน์การพัฒนาชุมชน "มุ่งสร้างโอกาส สร้างชุมชนน่าอยู่ ควบคู่การพัฒนาคนและสิ่งแวดล้อม"
เป็นชุมชนที่แบ่งแยกออกมาจากชุมชนดอนบน เมื่อปี พ.ศ.2555 เนื่องจากมีประชากรอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และมีพื้นที่ค่อนข้างใหญ่ทำให้การดูแลไม่ทั่วถึง ชุมชนจึงได้มีการแบ่งแยกพื้นที่ และตั้งชุมชนใหม่ขึ้น โดยใช้ชื่อของหมู่บ้านบางแสนทาวเวอร์ ซึ่งเป็นหมู่บ้านใหญ่และประชาชนส่วนใหญ่รู้จักเป็นอย่างดี ตั้งเป็นชื่อของชุมชนว่า “ชุมชนบางแสนทาวเวอร์”
วิสัยทัศน์การพัฒนาชุมชน "ชุมชนมีความสามัคคี รักชุมชน เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้วิชาชีพ ศิลปวัฒนธรรมประเพณีตลอดไป"
เดิมใช้ชื่อว่า “ชุมชนตาลล้อม” โดยมีการจัดตั้งมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2546 และต่อมาในปี พ.ศ.2555 ได้มีการแบ่งชุมออกเป็น ชุมชนตาลล้อม 1 และชุมชนตาลล้อม 2 ซึ่งในอดีตพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทุ่งนาที่มีต้นตาลล้อมรอบเป็นจำนวนมากจึงเรียกกันว่า “ตาลล้อม” แต่ในปัจจุบันพื้นที่โดยทั่วไปได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก มีการสร้างบ้านจัดสรร สร้างอาคารพาณิชย์ ทำให้ไม่มีต้นตาลเหลืออีก แต่ประชาชนก็ยังคงเรียกชุมชนดังกล่าวว่า “ตาลล้อม” มาจนถึงปัจจุบัน ในชุมชนมีวัดตาลล้อมเป็นวัดประจำชุมชน โดยมีพระครูพิพัฒน์ศีลคุณ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันทั่วไปว่า “หลวงพ่อพูน” อดีตเจ้าอาวาสวัดและผู้ก่อตั้งโรงเรียนวัดตาลล้อม ซึ่งท่านเป็นบุคคลที่ชาวบ้านให้ความนับถือตั้งแต่สมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ จนปัจจุบันนี้ท่านได้มรณภาพไปนานแล้วแต่ชาวบ้านชุมชน และชุมชนใกล้เคียง ก็ยังให้ความเคารพนับถือ ศรัทธา จนกลายเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชาวบ้าน โดยจะจัดเพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของ “พระครูพิพัฒน์ศีลคุณ” เป็นประจำทุกปี ชื่อ “งานประจำปีวัดตาลล้อม” ซึ่งจะจัดขึ้น ในช่วงเวลาขึ้น 9 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี
วิสัยทัศน์การพัฒนาชุมชน "เศรษฐกิจพอเพียง ชุมชนสมานฉันท์ ร่วมกันพัฒนาคน ชุมชน และสังคม"
เป็นชุมชนที่มีการแบ่งแยกมาจากชุมชนตาลล้อม เนื่องจากมีประชาชนอาศัยอยู่ในชุมชนอยู่หนาแน่นและมีจำนวนมาก ชุมชนตาลล้อมจึงได้แบ่งชุมชนเพิ่ม โดยแยกเป็นชุมชนตาลล้อม 1 และชุมชนตาลล้อม 2 เมื่อปี พ.ศ.2555 ซึ่งในอดีตพื้นที่ส่วนใหญ่ในชุมชนเป็นทุ่งนาที่มีต้นตาลขึ้นล้อมรอบเป็นจำนวนมาก และมีวัดตาลล้อมเป็นวัดประจำชุมชน มีพระครูพิพัฒน์ศีลคุณ เป็นเจ้าอาวาสในสมัยนั้น หรือที่ชาวบ้านเรียกกันทั่วไปว่า “หลวงพ่อพูน” อดีตเจ้าอาวาสวัดและผู้ก่อตั้งโรงเรียนวัดตาลล้อม ซึ่งท่านเป็นบุคคลที่ชาวบ้านให้ความนับถือตั้งแต่สมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ จนปัจจุบันนี้ท่านได้มรณภาพไปนาน แล้วแต่ชาวบ้านชุมชนตาลล้อม และชุมชนใกล้เคียงก็ยังให้ความนับถือ ศรัทธา และเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชาวบ้าน
วิสัยทัศน์การพัฒนาชุมชน "ประชาชนสามัคคี สุขภาพดี มีงานทำ บ้านเรือนสะอาด จิตใจร่าเริงแจ่มใส อนุรักษ์จารีตประเพณีศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น"
เป็นชุมชนดั้งเดิมที่เกิดจากการรวมตัวของประชาชนในพื้นที่ ที่ต้องการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของตนเอง จึงรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งชุมชน โดยมีนายบุญมี ใบบัว เป็นผู้นำชุมชนคนแรก และต่อมาได้เสียชีวิตจึงมีการเลือกผู้นำชุมชนคนใหม่ สภาพพื้นที่ชุมชนในสมัยก่อน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นนาข้าว หรือเหมืองข้าว ประชาชนในชุมชนจึงตั้งชื่อชุมชนว่า “บ้านเหมือง”
วิสัยทัศน์การพัฒนาชุมชน "ชุมชนร่วมมือร่วมใจ บริหารงานโปร่งใส รักษาจารีตประเพณี กีฬาดี กีฬาเด่น เน้นรักษาสิ่งแวดล้อม"
เดิมอยู่ในเขตพื้นที่ของชุมชนบ้านเหมือง เนื่องจากมีประชากรอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากและพื้นที่ค่อนข้างใหญ่ทำให้การดูแลไม่ทั่วถึง ชุมชนจึงได้มีการแยกพื้นที่และตั้งชุมชนใหม่ขึ้น มีการเลือกตั้งคณะกรรมการชุมชน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2552 คำว่า “พัฒนา 2” มาจากชื่อถนนเทศบาลพัฒนา 2 ซึ่งเป็นถนนสายหลักของชุมชน และตั้งชุมชนใหม่ขึ้น ตั้งชื่อว่า “ชุมชนพัฒนา 2”
วิสัยทัศน์การพัฒนาชุมชน "ชุมชนน่าอยู่ สภาพแวดล้อมดี ประชาชนสามัคคี"
มีพื้นที่เดิมเป็นไร่มันสำปะหลัง ทุ่งนา ป่ารกร้าง ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาขึ้น ปัจจุบันภายในชุมชนมีโรงเรียน สำนักสงฆ์ และหมู่บ้านจัดสรรเป็นจำนวนมาก ในปี พ.ศ.2555 ได้มีการแบ่งพื้นที่ของชุมชนพัฒนา 2 ออก เป็น ชุมชนดอนนารา เนื่องจากมีประชากรอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และพื้นที่ค่อนข้างใหญ่ทำให้การดูแลไม่ทั่วถึง โดยตั้งชื่อว่า “ชุมชนดอนนารา”
วิสัยทัศน์การพัฒนาชุมชน "ชุมชนน่าอยู่ มีความเข้มแข็งและพัฒนา พึ่งพาตนเองได้ อนุรักษ์ประเพณีท้องถิ่นสืบสานวัฒนธรรมไทย"
เกิดจากประชาชนได้มีการร้องขอให้มีการจัดตั้งชุมชนขึ้น เพื่อที่จะได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและแก้ไขปัญหาต่างๆในชุมชน และเพื่อเป็นการส่งเสริมความร่วมมือของประชาชนกับทางเทศบาล คำว่า “วัดกลางดอน” มาจากชื่อวัดแจ้งเจริญดอนหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดกลางดอน” เพื่อความเป็นสิริมงคลจึงได้ตั้งชื่อชุมชนตามชื่อวัด ในปี พ.ศ.2555 ได้มีการแยกพื้นที่ชุมชนออกเป็นชุมชนวัดกลางดอน1 ชุมชนวัดกลางดอน 2 และชุมชนวัดกลางดอน 3 ต่อมาในปี พ.ศ.2557 ได้ยุบรวมพื้นที่ทั้ง 3 ชุมชน และได้ใช้ชื่อชุมชนว่า “ชุมชนวัดกลางดอน” เหมือนเดิม
วิสัยทัศน์การพัฒนาชุมชน "ชุมชนมีรายได้ดี มีความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิตที่ดี"
เดิมอยู่ในพื้นที่ของชุมชนท้ายตลาดและได้มีการแยกและจัดตั้งชุมชนใหม่ขึ้น เมื่อปลายปี พ.ศ. 2549 คำว่า “แสนสุข” เป็นชื่อที่ประชาชนได้ร่วมกันคัดเลือกจากหลายๆ ชื่อที่ประชาชนได้เสนอในวันจัดตั้งชุมชน ในปี พ.ศ.2555 ได้แบ่งพื้นที่ชุมชนแสนสุข ออกเป็น ชุมชนตลาดหนองมน ชุมชนแสนสุข และชุมชนรักษ์แสนสุข ต่อมาในปี พ.ศ.2557 ได้มีการรวมพื้นที่ ชุมชนแสนสุข และชุมชนรักษ์แสนสุข และใช้ชื่อชุมชน “แสนสุข” และต่อมาในปี พ.ศ.2561 ได้มีการยุบรวมชุมชนตลาดหนองมนและชุมชนแสนสุข เข้าด้วยกัน โดยใช้ชื่อว่า “ชุมชนแสนสุข” เนื่องจากพื้นที่ของชุมชนทั้ง 2 มีแนวเขตติดต่อกัน เพื่อให้การบริหารจัดการชุมชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเพื่อประโยชน์ในด้านการปกครองการบริหารการอำนวยความสะดวก และการจัดการด้านการบริการสาธารณะแก่ประชาชน
วิสัยทัศน์การพัฒนาชุมชน "ต้นแบบชุมชนน่าอยู่ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สร้างกลุ่มอาชีพ ดำรงชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง"
อดีตเป็นหมู่บ้านขนาดเล็กที่อยู่ติดตลาดหนองมน มีสภาพเป็นที่ลุ่มมีน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝนที่เรียกว่า “มาบ” และคาดว่าในอดีต คงมีต้นมะยมอยู่จำนวนมากจึงเรียกกันติดปากว่า “มาบมะยม” ชุมชนมาบมะยมมีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่าหมู่บ้านเจ๊ก เนื่องจากว่าเป็นชุมชนที่มีคนจีนที่เข้ามาค้าขายกับประเทศไทย ได้ล่องเรือสำเภาแล้วมาจอดพักแรมก่อนเข้าไปยังอยุธยา ประกอบกับมีทำเลที่เหมาะสมในการค้าขาย เลยตั้งเป็นหมู่บ้านของคนจีนขึ้นมา และได้เรียกกันว่าหมู่บ้านเจ๊ก ในปี พ.ศ.2555 ได้มีการแยกพื้นที่ออกเป็นชุมชนสาย 4 ใต้ และชุมชนมาบมะยม ต่อมาในปี พ.ศ.2557 ได้มีการยุบรวมพื้นที่ทั้ง 2 ชุมชน เป็น “ชุมชนมาบมะยม” ดังเดิม
วิสัยทัศน์การพัฒนาชุมชน "เป็นชุมชนที่น่าอยู่ ส่งเสริมการพัฒนาอาชีพด้านการค้าขายและการศึกษา ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น เน้นคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในชุมชน"
เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีมานาน โดยเริ่มตั้งแต่สมัยผู้ใหญ่เฟ้ง คุณปลื้ม เป็นผู้นำชุมชน ต่อมามีผู้ใหญ่ตี๋และผู้ใหญ่ชาดูแลหมู่ 8 ผู้ใหญ่รองและผู้ใหญ่หวันดูแลหมู่ 9 พื้นที่ของชุมชนเดิมเป็นตลาดเก่า ต่อมาได้ย้ายตลาดมายังบริเวณตลาดหนองมนในปัจจุบัน พื้นที่ชุมชนท้ายตลาดจึงได้จัดตั้งเป็นชุมชนท้ายตลาดนับแต่นั้นมา
วิสัยทัศน์การพัฒนาชุมชน "ชุมชนน่าอยู่ควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม สังคมมีระเบียบวินัย ประชาชนร่วมใจพัฒนา"
เป็นชุมชนที่มีลักษณะเป็นแนวยาวจากทิศเหนือลงทิศใต้ เดิมด้านทิศเหนือและทิศตะวันตกของชุมชนเต็มไปด้วยป่าละเมาะ และสวนมะพร้าว ซึ่งเป็นที่ดินของเจ้านายชั้นสูง ในปัจจุบันก็คือซอยสดใส ชาวบ้านในสมัยก่อนจึงเรียกว่า “สวนหลวง” ส่วนทางด้านทิศใต้มีสภาพเป็นที่ลุ่มต่ำสลับทุ่งนาและบ่อปลา มีน้ำท่วมขังตลอดทั้งปี ในอดีตบริเวณที่ดอนจะเป็นที่ฝังศพของชาวฮินดู และที่เผาศพของชาวบ้านในละแวกนี้ คนสมัยก่อนจึงเรียกว่า ”ป่าช้าแขก” ต่อมาสภาพเศรษฐกิจเจริญขึ้น จึงได้มีการพัฒนาเป็นชุมชนอย่างหนาแน่น แหล่งกักเก็บน้ำตามธรรมชาติ เช่น ทุ่งนา บ่อปลาในอดีต จึงถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นที่อยู่อาศัย หอพัก อพาตร์เม้นต์ ที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน
วิสัยทัศน์การพัฒนาชุมชน "เป็นศูนย์กลางการศึกษา ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ควบคู่กับสิ่งแวดล้อมที่สวยงาม"
เดิมพื้นที่ชายหาดบางแสน ตั้งแต่บริเวณวงเวียนชายหาดบางแสนจนถึงบริเวณสะพานปลาหาดวอนนภา จะแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ วงเวียนชายหาดบางแสนถึง The Won Beach Condominium และ The Won Beach Condominium ถึงสะพานปลาหาดวอนนภา ชาวบ้านในอดีตจะเรียกพื้นที่บริเวณวงเวียนชายหาดบางแสนถึง The Won Beach Condominium ว่า “บางแสนบน” จึงเป็นที่มาของชื่อชุมชนบางแสนบนในปัจจุบัน ชุมชนบางแสนบนได้จัดตั้งเป็นชุมชนของเทศบาลเมืองแสนสุขเมื่อปี พ.ศ.2551
ในสมัยก่อน ชาวชุมชนบางแสนบนจะดำรงชีวิตด้วยการทำอาชีพประมงเรือเล็กหากินตามชายฝั่งเป็นส่วนใหญ่ ตรงบริเวณน่านน้ำของทะเลบางแสน แต่ในปัจจุบันเศรษฐกิจเติบโตขึ้นกว่าเมื่อก่อน เพราะมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวเข้ามาซึ่งก่อนหน้านี้บริเวณชายหาดของชุมชนบางแสนบนจะไม่มีเก้าอี้ผ้าใบและการค้าขาย การจราจรไม่หนาแน่น ประชาชนส่วนใหญ่จะเป็นคนในพื้นที่
ในปี พ.ศ.2555 ชุมชนบางแสนบนมีการแบ่งชุมชนออกเป็น ชุมชนบางแสนบน ชุมชนบางแสนล่าง และในปี พ.ศ. 2557 ได้มีการรวมชุมชนและจัดตั้งใหม่ เป็นชุมชนบางแสนบนอีกครั้ง โดยรวมชุมชนบางแสนบน บางแสนล่าง ซึ่งให้เป็นไปตามนโยบายของคณะผู้บริหารเทศบาลเมืองแสนสุข เพื่อมุ่งหวัง ให้การบริหารจัดการชุมชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และการบริหารจัดการชุมชนได้อย่างเพียงพอในการแก้ไขปัญหาของชุมชน
วิสัยทัศน์การพัฒนาชุมชน "เป็นชุมชนน่าอยู่ ทัศนีย์ภาพสวยงาม รักษาสิ่งแวดล้อม รักษ์สุขภาพ รู้รักสามัคคี"
เกิดขึ้นจากคณะผู้บริหารเทศบาลเมืองแสนสุข มีนโยบายในการจัดตั้งชุมชนในเขตเทศบาลเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพในการปกครอง การบริหาร การอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและการดำเนินการบริการสาธารณะสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและทั่วถึง และครอบคลุมทุกพื้นที่ในปี พ.ศ.2556 ได้มีการแยกพื้นที่ชุมชนหาดวอนนภาออกเป็น 2 ส่วน คือ “ชุมชนหาดวอนล่าง” และ “ชุมชนหาดวอนบน” ต่อมาในปี พ.ศ. 2557 ได้มี การรวมพื้นที่ชุมชนหาดวอนบนและชุมชนหาดวอนล่าง รวมเป็น “ชุมชนหาดวอนนภา” ดังเดิมคำว่า “หาดวอนนภา” เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกกันตามชื่อเจ้าของเดิมคือ คุณนายวอน นภาศัพท์ ซึ่งเป็นเจ้าของที่บริเวณนี้
วิสัยทัศน์การพัฒนาชุมชน "ชุมชนสมานฉันท์ สรรสร้างพัฒนา เน้นกีฬาเพื่อความสามัคคี"
มีข้อสันนิษฐานว่าอาจมีการตั้งรกรากตั้งแต่สมัยปลายอยุธยา สังเกตจากโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากร เดิมเป็นชุมชนเกษตรกรรม มีการทำนาปลูกข้าว พืชผักสวนครัว ทำน้ำตาลสดจากมะพร้าว และต้นตาล ปัจจุบันเปลี่ยนจากเกษตรกรรมมาเป็นค้าขาย ภายในบริเวณชุมชนมี “วัดบางเป้ง” ซึ่งเป็นวัดที่ชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธาและให้ความเคารพนับถือมาก ชุมชนบางเป้งได้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2547 และ ได้ตั้งชื่อว่า “ชุมชนบางเป้ง”
ในปี พ.ศ. 2555 ชุมชนบางเป้งมีการแบ่งชุมชนออกเป็น ชุมชนบางเป้ง ชุมชนวังมุข ชุมชนมิตรสัมพันธ์ และชุมชนไก่ย่าง เนื่องจากมีประชากรที่เพิ่มมากขึ้นทำให้การดูแลไม่ทั่วถึง ต่อมาในปี พ.ศ. 2557 ได้มีการยุบรวมชุมชน โดยได้รวมชุมชนบางเป้ง ชุมชนวังมุข ชุมชนมิตรสัมพันธ์ และชุมชนไก่ย่าง โดยใช้ชื่อชุมชนว่า “ชุมชนบางเป้ง” ตามนโยบายของคณะผู้บริหารเทศบาลเมืองแสนสุข ที่มุ่งหวังให้การบริหารจัดการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ประชาชนได้รับประโยชน์จากการบริการสาธารณะอย่างรวดเร็ว รวมทั้งสามารถสนับสนุนงบประมาณเพื่อการบริหารจัดการชุมชนได้อย่างเพียงพอในการแก้ไขปัญหาของชุมชน
วิสัยทัศน์การพัฒนาชุมชน "เศรษฐกิจดี ชุมชนก้าวหน้า ประชาชนสามัคคี"
เป็นชุมชนที่แยกมาจากชุมชนโชคดี ซึ่งในปี พ.ศ. 2555 ชุมชนโชคดีมีการแบ่งชุมชนออกเป็น ชุมชนโชคดี และชุมชนหน้ามอ เนื่องจากมีประชากรอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากและพื้นที่ค่อนข้างใหญ่ทำให้การดูแลไม่ทั่วถึง จึงได้มีการแยกพื้นที่และตั้งชุมชนใหม่ขึ้น ซึ่งพื้นที่ชุมชนตั้งอยู่ตรงข้ามมหาวิทยาลัยบูรพาหรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า “ม.บูรพา” จึงเป็นที่มาของ “ชุมชนหน้ามอ”
วิสัยทัศน์การพัฒนาชุมชน "ชุมชนร่วมมือ ร่วมใจ พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้ เป็นศูนย์กลางเรียนรู้วิชาชีพของชุมชน ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น หมดสิ้นปัญหายาเสพติดและอาชญากรรม"
เป็นชุมชนที่เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2532 โดยไม่ได้เกิดขึ้นมาจากความต้องการของชาวชุมชนเดิม แต่เกิดจากการดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐคือ เทศบาลเมืองแสนสุข เริ่มจากเทศบาลฯ ต้องการพื้นที่ในการตั้งสำนักงาน แต่พื้นที่บริเวณดังกล่าวมีประชาชนที่เร่ขายสินค้า อยู่ในบริเวณชายหาด บางแสน เข้ามาปักหลักจัดตั้งเป็นชุมชนอยู่แล้วเทศบาลจึงต้องย้ายชุมชนไปอยู่ที่ใหม่ โดยการไปพัฒนาพื้นที่ของเทศบาลฯ ที่ซื้อไว้ ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากชุมชนเดิมมากนัก การพัฒนาพื้นที่เริ่มจากการปรับพื้นที่ซึ่งแต่เดิมเป็นที่รกร้างให้ราบเรียบและโล่งเตียน สร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ตัดถนน ติดตั้งระบบประปา และระบบไฟฟ้า จัดสรรพื้นที่เป็นแปลง แปลงละประมาณ 10 – 20 ตารางวา ให้แต่ละครอบครัวอยู่อาศัย โดยเสียค่าเช่าที่ดินตารางวาละ 50 สตางค์ต่อเดือน และต้องต่อสัญญาเช่าปีต่อปี หลังจากเช่าที่แล้วแต่ละครอบครัวก็สามารถปลูกสร้างบ้านเรือนได้ ตามรูปแบบที่ต้องการและตามกำลังทรัพย์ของแต่ละครอบครัว ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในชุมชนโชคดีส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าแม่ค้า ที่ค้าขายหาบเร่อยู่บริเวณชายหาดบางแสนที่มาจากหลากหลายพื้นที่ หลากหลายวัฒนธรรมประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนส่วนใหญ่มีฐานะยากจนด้วยเหตุผลว่า ค่าเช่าที่ดินราคาถูก อยู่ใกล้ชายหาดบางแสนที่เป็นแหล่งทำมาหากิน จึงเป็นเสมือนแม่เหล็กที่ดึงดูดให้สมาชิกอยู่ในชุมชนโชคดีต่อไป เดิมชุมชนโชคดีมีพื้นที่อยู่บริเวณ ซอย 10 ถนนบางแสนสาย 3 ปัจจุบันได้มีการขยายพื้นที่ชุมชนโชคดีออกไป เพื่อให้ชุมชนครอบคลุมพื้นที่ของเทศบาลเมืองแสนสุข
ปัจจุบันชุมชนโชคดีได้จัดตั้งเป็นสหกรณ์ เคหสถานบ้านมั่นคงโชคดีพัฒนา จำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2555 และได้รับอนุมัติจากสภาเทศบาลเมืองแสนสุขให้เช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 497 พื้นที่ดิน 6 ไร่ 2 งาน 88 ตารางวา ถนนบางแสนสาย 3 และได้นำสิทธิการเช่าไปค้ำประกันเงินกู้จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) โดย พอช. ได้อนุมัติสินชื่อ จำนวน 16,570,389 บาท สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงและสร้างบ้านพักอาศัยให้กับสมาชิก จำนวน 117 ครัวเรือน
วิสัยทัศน์การพัฒนาชุมชน "ชุมชนสามัคคี เศรษฐกิจดีถ้วนหน้า"
เดิมพื้นที่ชุมชนสมใจนึก มีเจ้าของเป็นคนจีนที่เข้ามาครอบครองพื้นที่ประมาณคนละ 30 – 50 ไร่ และหลังจากนั้น ได้มีการขยายพื้นที่ให้กับประชาชนทั่วไป และเกิดเป็นชุมชนขึ้น เดิมมีครัวเรือนไม่มากนัก จากนั้นได้มีการแบ่งเขตการปกครอง จึงจัดตั้งเป็นหมู่ที่ 15 ของตำบลแสนสุข อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ต่อมาได้มีการสร้างบ้านเรือนเพิ่มมากขึ้น ได้รับการเล่าขานจากประชาชน ในชุมชน คือ นายเลี้ยน หนุนดี อายุ 81 ปี ตาจาง หนุนดี อายุ 84 ปี นายวิชัย หนุนดี อายุ 60 ปี แต่เดิมเรียกว่า “บ้านจำรุง หมู่ 15” เมื่อ 100 ปีผ่านมา ถนนบางแสนสาย 3 เริ่มแรกเรียกว่า ซอยหัวป่า ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นซอยกล้วยไม้ ทั้งสองข้างทางเป็นสวนมะพร้าว และมะนาวป่า คนในชุมชนสมัยก่อนทำนา ทำสวนมะพร้าว สวนน้อยหน่า เผาข้าวหลาม เผามะพร้าว ทำตาล ทำน้ำตาลปึก น้ำตาลสด ตาลโตนด และเลี้ยงสัตว์ (เป็ด หมู) ต่อมาคนในชุมชนเริ่มมีอาชีพค้าขายตามชายหาดบางแสน โดยนำน้ำตาลสด ข้าวหลาม มะพร้าวเผา หาบข้าวแกงขาย สมัยก่อนนั้นมีผู้ใหญ่บ้าน 4 คน คนแรกคือ ผู้ใหญ่แขก ศรีแจ้ง ผู้ใหญ่ขัน สัตบุตร ผู้ใหญ่บุญสม (สม) ชมเชย และผู้ใหญ่ประสิทธิ์ ชมเชย ชุมชนในสมัยก่อนมีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 20 ครัวเรือนส่วนใหญ่จะเป็นญาติพี่น้องกัน ตระกลูเสียงสังข์ และทองระอาเป็นส่วนใหญ่ น้ำไฟยังเข้าไม่ถึงการจราจรเป็นการเดินทางเท้า หรือจักรยาน ส่วนใหญ่จะเป็นการเดินเท้ามากกว่า
เวลาล่วงเลยมาหลายปี เริ่มมีไฟฟ้า เริ่มมีน้ำประปา ประชากรในชุมชนเริ่มมาอาศัยกันมากขึ้น ส่วนคนเก่าดั้งเดิมเริ่มย้ายที่อยู่อาศัยบางรายก็เสียชีวิต และบุคคลภายนอกก็เริ่มมาอาศัย และเป็นแหล่งทำมาหากินโดยการค้าขาย ทำสวน ทำไร่ บางรายทำงานรับราชการ เลี้ยงสัตว์ ฯลฯ แต่อาชีพหลัก ๆ คือการเผาข้าวหลามขาย เผามะพร้าว ร้อยสร้อยหอยขาย บางคนทำขนมขาย เป็นชุมชนที่เป็นเหมือนพี่น้องอยู่รวมกัน พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ต่อมามีการขายที่ดินจึงมีคนภายนอกเข้ามาอาศัยอยู่ จากชุมชนขนาดเล็กได้ขยายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีประชาชนเพิ่มมากขึ้น แต่เดิมหมู่บ้านสมใจนึก ชื่อหมู่บ้านจำรุง หมู่ 15 ผู้ใหญ่ประสิทธิ์ ชมเชย เป็นคนตั้งชื่อนี้ ต่อมาได้มีการสร้างหมู่บ้านจัดสรรขึ้นมา ชื่อหมู่บ้านสมใจนึก จึงได้กลายเป็นชื่อเรียกชุมชนแห่งนี้ โดยชุมชนสมใจนึกเริ่มก่อตั้งเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2549 มาจนทุกวันนี้ การคมนาคมเริ่มมากขึ้นตามลำดับ กลายเป็นชุมชนที่แออัดมากขึ้น และในปีพ.ศ. 2555 ชุมชนสมใจนึกได้มีการแบ่งพื้นที่ออกเป็นชุมชนสมใจ
ในปี พ.ศ.2557ได้มีการยุบรวมชุมชนและจัดตั้งขึ้นใหม่ โดยรวมชุมชนสมใจนึก กับ ชุมชนหน้าเทศบาล 1 บางส่วนและตั้งชื่อว่า “ชุมชนสมใจนึก” โดยให้เป็นไปตามนโยบายของคณะผู้บริหาร เทศบาลเมืองแสนสุข เพื่อมุ่งหวังให้การบริหารจัดการชุมชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และการบริหารจัดการชุมชนได้อย่างเพียงพอในการแก้ไขปัญหาของชุมชน
วิสัยทัศน์การพัฒนาชุมชน "ชุมชนพัฒนา เศรษฐกิจการค้าก้าวหน้า ประชาชนสามัคคี"
เป็นชุมชนที่แบ่งพื้นที่ออกมาจากชุมชนสมใจนึก เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2555 ตามนโยบายของคณะผู้บริหารเทศบาลเมืองแสนสุข เพื่อเพิ่มศักยภาพในการปกครองการบริหาร การอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน โดยแบ่งออกเป็น ชุมชนสมใจนึก ชุมชนหน้าเทศบาล 1 และชุมชน หน้าเทศบาล 2 ในปี พ.ศ.2557 ได้มีประกาศยุบรวมชุมชนทั้ง 3 ชุมชน คือ ชุมชนสมใจนึก ชุมชนหน้าเทศบาล 1 และชุมชนหน้าเทศบาล 2 เข้าด้วยกันโดยใช้ชื่อชุมชนว่า “ชุมชนสมใจนึก” ต่อมาเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 ได้มีประกาศจัดตั้งชุมชนในเขตเทศบาลเมืองแสนสุขเพิ่มเติม โดยให้รวมชุมชนหน้าเทศบาล1 (บางส่วน) และชุมชนหน้าเทศบาล2 เข้าด้วยกันและตั้งชื่อชุมชนว่า “ชุมชนหน้าเทศบาล”
วิสัยทัศน์การพัฒนาชุมชน "ชุมชนอยู่ดีมีสุข ประชาชนสามัคคี ร่วมกันสรรสร้างพัฒนา"
เดิมอยู่ในเขตรับผิดชอบของชุมชนมุขแสนเจริญ แต่เนื่องจากมีพื้นที่ ขนาดใหญ่ จึงแยกตัวออกมาจัดตั้งเป็นชุมชนวัดแสนสุข คำว่า “วัดแสนสุข” มาจากชื่อวัดที่ตั้งอยู่ในชุมชน ชาวบ้านจึงนำชื่อวัดมาตั้งเป็นชื่อชุมชนว่า “ชุมชนวัดแสนสุข” และในปี พ.ศ.2555 มีนโยบายในการจัดตั้งชุมชนเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพในการปกครอง การบริหารและการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน จึงได้แยกชุมชนวัดแสนสุข ออกเป็นชุมชนวัดแสนสุข และชุมชนสแกนดิเนเวีย และในปี พ.ศ. 2557 ได้มีการยุบรวมชุมชนวัดแสนสุขและชุมชนสแกนดิเนเวีย เข้าด้วยกันและตั้งชื่อชุมชนว่า “ชุมชนวัดแสนสุข” เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของคณะผู้บริหารเทศบาลเมืองแสนสุขเพื่อมุ่งหวังให้การบริหารจัดการชุมชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และการบริหารจัดการชุมชนได้อย่างเพียงพอในการแก้ไขปัญหาของชุมชน
วิสัยทัศน์การพัฒนาชุมชน "เศรษฐกิจดี ชีวีมีสุข พึ่งพาตนเองได้ มีการบริหารจัดการชุมชนอย่างเป็นระบบ"
เกิดจากความต้องการของประชาชนในชุมชน ที่ต้องการจัดตั้งเป็นชุมชนของเทศบาล จึงมีการรวมตัวของชาวบ้านกลุ่มหนึ่ง โดยมี พ.ต.ท.ชัชชาย คล้ายคลึง ในสมัยนั้นได้รับเลือกเป็นประธานชุมชน คำว่า “มุขแสนเจริญ” มาจาก “เขาสามมุข” และ “แสนเจริญ” เนื่องจากชุมชนมุขแสนเจริญ จะรวมพื้นที่ของหมู่บ้านยายช้อย ซึ่งแยกตัวออกมาจากชุมชนเขาสามมุข และหมู่บ้านแสนเจริญ เมื่อปี พ.ศ. 2555 เทศบาลเมืองแสนสุข ได้มีการจัดตั้งชุมชนในเขตเทศบาลเมืองแสนสุขเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพในการบริหาร การอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และการจัดการดำเนินการบริหารสาธารณะสามารถตอบสนอง ความต้องการของประชาชน ให้เป็นไปอย่างรวดเร็วทั่วถึง และครอบคลุมทุกพื้นที่จึงได้มีการแยกชุมชนมุขแสนเจริญออกเป็นชุมชนมุขแสนเจริญ 1 และชุมชนมุขแสนเจริญ 2
วิสัยทัศน์การพัฒนาชุมชน "ชุมชนน่าอยู่ ประชาชนสามัคคี ควบคู่กับคุณภาพชีวิตที่ดี"
เป็นชุมชนที่แยกมาจากชุมชนมุขแสนเจริญ ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2555 เทศบาลเมืองแสนสุข ได้มีนโยบายในการจัดตั้งชุมชนในเขตเทศบาลฯ เพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพในการบริหาร การอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และการจัดการดำเนินการบริการสาธารณะ สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน ให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและทั่วถึงและครอบคลุมทุกพื้นที่ จึงตั้งชื่อชุมชนใหม่ขึ้นว่า “ชุมชนมุขแสนเจริญ 2”
วิสัยทัศน์การพัฒนาชุมชน "ชุมชนเข้มแข็ง เศรษฐกิจดี มีคุณภาพชีวิตที่สมบูรณ์"
เป็นชุมชนดั้งเดิมที่มีมานานแล้ว เป็นชุมชนที่อยู่ติดกับเขาสามมุข มีทัศนียภาพที่สวยงามอยู่ติดกับชายหาดบางแสน บริเวณบนเขาสามมุขเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าแม่สามมุข ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของเทศบาลเมืองแสนสุข ซึ่งมีตำนานเล่าขานกันมายาวนาน เป็นเรื่องราวความรักของหนุ่มสาว 2 คน ซึ่งหญิงสาวคนหนึ่งมีชื่อว่า สาวมุข เป็นชาวเมืองบางปลาสร้อย กำพร้าบิดามารดาอาศัยอยู่กับยายที่ริมผาทะเล นางเป็นคนสวย และมีหนุ่มคนหนึ่ง ชื่อ แสน เป็นลูกชายของเศรษฐีแห่งหมู่บ้านอ่างหิน หรืออ่างศิลา ซึ่งอยู่ใกล้กับภูเขาลูกนี้ หนุ่มแสนชอบเล่นว่าว อยู่มาวันหนึ่ง ว่าวของหนุ่มแสนขาดลอยไปตกอยู่ที่กระท่อมของสาวมุข เธอเก็บว่าวของหนุ่มแสนได้ เมื่อหนุ่มแสนตามว่าวมาก็พบกับสาวมุข ก็ต้องตะลึงในความงามของหญิงสาว จนอยากมาพบสาวมุขอีก ทั้งสองพบกันเกือบทุกวัน จนเกิดความใกล้ชิด ทำให้มีความรักต่อกัน เมื่อพ่อของหนุ่มแสนรู้เรื่องก็โกรธ และไม่พอใจที่ฝ่ายหญิงมีฐานะยากจน จึงได้กีดกันความรักของสองคน กำนันได้ยื่น คำขาดให้หนุ่มแสนแต่งงานกับสาวมะลิ ทำให้สาวมุขเสียใจ จนในวันแต่งงานของหนุ่มแสน สาวมุขได้นึกถึงคำสาบานของหนุ่มแสนที่พูดไว้กับเธอ ทำให้เธอชอกช้ำใจ สายตาเหม่อลอย จึงตัดสินใจกระโดดหน้าผาไป ครั้นหนุ่มแสนรู้เรื่องจึงได้ตัดสินใจกระโดดหน้าผาตายตามสาวมุขไปด้วย จึงเรียกชื่อ เขานี้ตามชื่อของคู่รักทั้ง 2 คน ว่า “เขาแสนมุข” ต่อมาชาวบ้านได้เรียกผิดเพี้ยนเป็น “ เขาสาวมุข” ในปัจจุบัน คือ “เขาสามมุข” ต่อมาชาวบ้านได้สร้างศาลเจ้าแม่เขาสามมุขไว้ที่หน้าผา เพื่อเป็นอนุสรณ์ในความรักของทั้งสองคน ปัจจุบัน นักท่องเที่ยวจึงนิยมไปสักการะเจ้าแม่สามมุขที่เขาสามมุขเพื่อขอพรและเพื่อเป็นสิริมงคลกับตนเองและครอบครัว
วิสัยทัศน์การพัฒนาชุมชน "สืบสานวัฒนธรรมอันดีงาม ร่วมกันสร้างสรรค์สามัคคี ทุกชีวีปลอดยาเสพติด พัฒนาคุณภาพชีวิตส่งเสริมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน"
เป็นชุมชนเก่าแก่ ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างชายหาดบางแสนและเขาสามมุข มีพื้นที่อยู่ติดกับชายทะเล สมาชิกชุมชนส่วนใหญ่ในอดีตประกอบอาชีพการประมง เลี้ยงหอยนางรม ตีครกหิน และค้าขาย ต่อมามีการพัฒนาพื้นที่ทำให้ชุมชนมีความเจริญมากขึ้นซึ่งเป็นสถานที่ค้าขายชายหาดบางแสนซึ่งถือว่า เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดชลบุรี คำว่า “แหลมแท่น” มาจากลักษณะของภูมิประเทศ ที่เป็นแหลมยื่นออกสู่ทะเลและมีก้อนหินใหญ่โตโผล่พ้นทะเล อันเปรียบเหมือนสัญลักษณ์โดดเด่นของพื้นที่ จึงเรียกกันติดปากต่อมาว่า “บ้านแหลมแท่น” ในปี พ.ศ. 2555 ชุมชนบ้านแหลมแท่นมีการแบ่งชุมชนออกเป็น ชุมชนบ้านแหลมแท่น และชุมชนบางสิบหมื่น ต่อมาในปี พ.ศ. 2557 ได้มีการรวมชุมชนและจัดตั้งชุมชนใหม่ โดยยุบรวมชุมชนบ้านแหลมแท่นและชุมชนบางสิบหมื่นเข้าด้วยกันและ ตั้งชื่อว่า “ชุมชนบ้านแหลมแท่น” อีกครั้ง เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของคณะผู้บริหารเทศบาลเมืองแสนสุข เพื่อมุ่งหวังให้การบริหารจัดการชุมชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และการบริหารจัดการชุมชนได้อย่างเพียงพอในการแก้ไขปัญหาของชุมชน