ด้วยงานป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ ฝ่ายส่งเสริมการอนามัย กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมมีหน้าที่ดูแลและควบคุมโรคติดต่อ ของประชาชนในเขตเทศบาลเมืองแสนสุข ซึ่งสถานการณ์โรค มือ เท้า ปาก ในปี พ.ศ.2555 (ข้อมูล ณ วันที่ 27 มีนาคม 2555) มีการรายงานผู้ป่วยโรค มือ เท้า ปาก พบว่า พ.ศ. 2555 มีรายงานผู้ป่วยสูงกว่า พ.ศ. 2554 มากกว่า 4 เท่า และสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี จำนวน 58 ราย จากสถานการณ์ดังกล่าว แสดงว่ามีการระบาดของโรค มือ เท้า ปาก ในช่วงนี้ และมีแนวโน้มที่จะเกิดการแพร่กระจายของโรคในวงกว้าง เนื่องจากสถานการณ์โรคในรอบปีที่ผ่านมาพบว่าการระบาดของโรคมักเกิดในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน ของทุกปี

โรค มือ เท้า ปาก
เกิดจากเชื้อไวรัสลำไส้หรือเอนเทอโรไวรัสหลายชนิด ได้แก่ ค๊อกแซกกี เอ,บี (Coxsackie A,B) และพบได้บ่อยในกลุ่มเด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โรคเกิดประปรายตลอดปี แต่จะเพิ่มมากขึ้นในหน้าฝน ซึ่งอากาศมักเย็นและชื้น โดยทั่วไปโรคนี้อาการไม่รุนแรง

การแพร่ติดต่อของโรค
การติดต่อส่วนใหญ่เกิดจากได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ปากโดยตรง โรคแพร่ติดต่อง่ายในช่วงสัปดาห์แรกของการป่วย โดยเชื้อไวรัส อาจติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก น้ำจากตุ่มพองและแผล หรืออุจจาระของผู้ป่วย และอาจเกิดจากการไอจามรดกัน ในระยะที่เด็กมีอาการทุเลาหรือหายป่วยแล้วประมาณ 1 เดือน จะพบเชื้อในอุจจาระได้ แต่การติดต่อในระยะนี้จะเกิดขึ้นได้น้อยกว่า

อาการของโรค
หลังจากได้รับเชื้อ 3 – 6 วัน ผู้ติดเชื้อจะเริ่มแสดงอาการป่วย เริ่มด้วยมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย ต่อมาอีก 1 – 2 วัน มีอาการเจ็บปากและไม่ยอมทานอาหาร เนื่องจากมีตุ่มแดงที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม ตุ่มนี้จะกลายเป็นตุ่มพองใส ซึ่งบริเวณรอบๆ จะอักเสบและแดง ต่อมาตุ่มจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ จะพบตุ่มหรือผื่น(มักไม่คัน) ที่ฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า และอาจพบที่ก้นด้วย อาการจะทะเลาและหายเป็นปกติภายใน 7 - 10 วัน

การรักษา
โรค มือ เท้า ปาก หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน เป็นโรคที่สามารถหายได้เอง โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 7 วัน การรักษาจึงเป็นเพียงการประคับประคองและบรรเทาอาการ โดยเฉพาะการลดไข้ และลดอาการเจ็บปวดจากแผลในปาก โดยอาจใช้ยาชาป้ายบริเวณที่เป็นแผลก่อนรับประทานอาหาร ในกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อนให้รักษาตามอาการเป็นส่วนใหญ่ หลังจากการติดเชื้อผู้ป่วยจะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสที่ก่อโรค แต่อาจเกิดโรคมือ เท้า ปาก ซ้ำได้จาก enterovirus ตัวอื่นๆ ควรแนะนำผู้ปกครองสังเกตอาการที่อาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่นไข้สูง ซึม อาเจียนบ่อยๆ ไม่ยอมรับประมานอาหารและน้ำ ซึ่งควรพาบุตรหลานมาพบแพทย์

คำแนะนำเรื่อง การป้องกันและควบคุมโรค มือ เท้า ปาก
1.พ่อแม่ผู้ปกครอง ควรแนะนำสุขอนามัยส่วนบุคคลแก่บุตรหลาน และผู้ดูแลเด็ก โดยเฉพาะการล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนการเตรียมอาหารหรือก่อนรับประทานอาหาร และหลังขับถ่าย ผู้ดูแลควรมีการล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่โดยเฉพ่ะอย่างยิ่ง หลังทำความสะอาดก้นให้เด็ก การรักษาสุขอนามัยในการรับประทานอาหาร เช่น การใช้ช้อนกลาง หลีกเลี่ยงการใช้แก้วน้ำร่วมกัน นอกจากนั้น ควรให้เด็กอยู่ในที่ที่มีการระบายอากาศที่ดีไม่พาเด็กเล็กไปในที่แออัด
2.ผู้ประกอบการในสถานเลี้ยงเด็กควรดูแลให้มีการปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสุขลักษณะของสถานที่อย่างสม่ำเสมอ เช่น การเช็ดถูอุปกรณ์เครื่องเรือน เครื่องเล่น หรืออุปกรณ์การเรียนการสอนต่างๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคเป็นประจำ รวมทั้งการกำจัดอุจจาระให้ถูกต้องและล้างมือบ่อยๆ
3.ในโรงเรียนอนุบาล และโรงเรียนประถมศึกษา ควรเพิ่มเติมความรู้เรื่องโรคและการป้องกันตนเอง เช่น ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับเด็กป่วย การล้างมือและการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล ผู้ดูแลสระว่ายน้ำควรรักษาสุขลักษณะของสถานที่ตามประกาศของกรมอนามัย เพื่อป้องกันการระบาดของโรค มือ เท้า ปาก
4.ในกรณีที่เด็กมีอาการป่วยซึ่งสงสัยเป็นโรคมือ เท้า ปาก ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที และแยกเด็กอื่นไม่ให้คลุกคลีใกล้ชิดกับเด็กป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพื้นที่ที่มีการระบาด หากเด็กมีตุ่มในปาก โดยที่ยังไม่มีอาการอื่น ให้หยุดเรียน อยู่บ้านไว้ก่อน ให้เด็กที่ป่วยขับถ่ายอุจจาระลงในที่รองรับ แล้วนำไปกำจัดให้ถูกสุขลักษณะในส้วม หากเด็กมีอาการป่วยรุนแรงขึ้น เช่น ไม่ยอมทานอาหาร ไม่ยอมดื่มน้ำ ต้องรีบพาไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทันที
5.สำหรับท่านที่จะพาบุตรหลานที่เป็นเด็กเล็กไปต่างประเทศที่มีการระบาด สามารถเดินทางได้ตามปกติ โดยให้ปฏิบัติตนตามสุขลักษณะที่ดี หลีกเลี่ยงพาบุตรหลานไปสถานที่แออัด และหากบุตรหลานมีอาการป่วยที่สงสัยโรคมือ เท้า ปาก ให้พาไปพบแพทย์
6.การทำความสะอาดพื้นผิวต่างๆที่เด็กป่วยสัมผัส ทั้งในบ้าน สถานศึกษา สถานที่สาธารณะ เช่นห้างสรรพสินค้า แนะนำให้ทำความสะอาดด้วยแบบสบู่ หรือผงซักพอก ปกติก่อน แล้วตามด้วยน้ำยาฟอกขาว เช่น คลอรอกซ์ ไฮเตอร์ ทิ้งไว้ 10 นาที แล้วล้าง/เช็ด/แช่ ด้วยน้ำสะอาด เพื่อป้องกันสารเคมีตกค้าง ส่วนของเล่นที่เด็กอาจเอาเข้าปากได้ ให้ทำความสะอาดด้วยสบู่หรือผงซักฟอกตามปกติ และนำไปพึ่งแดด